เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาปราชญ์ที่คนไทยควรต้องรู้จัก

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาปราชญ์ที่คนไทยควรต้องรู้จัก

ปรัชญาสำคัญที่เป็นแนวคิดของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวคิดที่ทรงคุณค่ามหาศาลซึ่งไม่ใช่แต่เป็นที่ยอมรับจากคนไทยเท่านั้น แม้แต่ในระดับโลกก็เช่นกัน แต่น่าเสียดายที่หลายคนยังคงไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของประโยคนี้ ทั้งที่จริงๆแล้วหากสามารถนำเอามาปรับใช้กับชีวิตได้ จะนำความสุขและความมั่นคงของชีวิตให้เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัวได้อย่างแน่นอน แล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร ? เรามาทำความรู้จักกันให้ชัดเจนเลยกันดีกว่า

  1. ความประหยัด อดออม มัธยัสถ์

ถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง การไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่นำเงินในอนาคตมาใช้ให้เกิดหนี้สิน ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปในทุกด้าน ลดการจ่ายที่มีความฟุ่มเฟือยเกินไป จัดทำบัญชีครัวเรือน แต่ไม่ได้หมายความว่า คนมีเงินมากจะต้องใช้เงินให้น้อยที่สุดเหมือนกับคนฐานะธรรมดาหรือคนรายได้น้อย แต่ให้ใช้เงินไม่เกินกว่าที่ตัวเองหาได้ คือให้สมกับฐานะนั่นเอง

  1. ประกอบอาชีพของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ไม่ว่าจะมีอาชีพอะไรก็ตาม ทั้งการรับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ฯลฯ ไม่ทำการเอารัดเอาเปรียบประเทศชาติและประชาชน เช่น คนที่รับราชการก็ไม่ควรใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง (รับส่วย,สินบน) พ่อค้าแม่ค้า ขายสินค้าที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคาไม่เอาเปรียบลูกค้า(เอาของเน่าเสียหรือไม่มีคุณภาพมาขายหรือใช้การโกงตราชั่ง) เป็นต้น การประกอบอาชีพด้วยความสุจริตแม้จะทำให้ร่ำรวยได้ช้าหรืออาจจะไม่ร่ำรวยแต่ก็มีความมั่นคงในชีวิต และมีความภาคภูมิใจในตนเองและครอบครัว

  1. ไม่แก่งแย่งผลประโยชน์ทางการค้าแบบรุนแรงเกินไป

การแข่งขันในทางการค้านั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แต่ทุกคนควรพึงสำนึกว่าไม่ควรใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องเพื่อทำลายคู่แข่ง

  1. หารายได้เพิ่มเติม

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแม้จะพูดถึงเรื่องของการอดออมและประหยัด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้พอใจอยู่เพียงแค่การมีรายได้เท่าที่มีอยู่ แต่ควรพยายามหารายได้เพิ่มเติมเข้าสู่ครอบครัวด้วย โดยการขวนขวายหาความรู้แลหาช่องทางต่างๆเพิ่มเติมเพื่อที่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและทำให้มีเงินเหลือสำหรับการออมด้วย

  1. ประพฤติตนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม

คนดีหรือคนที่มีศีลธรรมเป็นรากฐานของประเทศที่จะเกิดการพัฒนาได้อย่างมั่นคงและมีความสุข การเป็นคนดีไม่ได้หมายถึงแค่คนที่เป็นข้าราชการเท่านั้น แต่ยังหมายถึงทุกภาคส่วนที่อยู่ในสังคมด้วย ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” จึงไม่ใช่แนวคิดที่เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันแต่เป็นปรัชญาของปราชญ์ผู้ประเสริฐอย่างแท้จริง