การประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนควรรู้

การประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนควรรู้

คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ซึ่งเราทุกคนสามารถนำปรัชญานี้มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ด้านความประหยัด

ควรควบคุมค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายส่วนที่ฟุ่มเฟือยออกไป เพื่อให้มีส่วนเงินเหลือเก็บมากขึ้น และลดปัญหาภาวะหนี้สินในทุกครอบครัวได้

2. ด้านการเลือกอาชีพ

ควรยึดมั่นที่จะประกอบอาชีพสุจริต แม้ว่าจะต้องมีความอดทนและมานะพยายามสูง ก็ไม่วอกแวกที่จะไปเป็นมิจฉาชีพ หรือลักขโมยให้ผู้อื่นเดือดร้อน

3. มีน้ำใจนักกีฬา

สำหรับนักธุรกิจ ย่อมมีการแข่งขันทางการค้าเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ควรทำการผูกขาดตลาดหรือทำให้นักธุรกิจรายอื่นไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ จนถึงขั้นต้องปิดกิจการ

4. พัฒนาตนเอง

ควรกระตือรือร้น ไม่หยุดนิ่งที่จะแสวงหาความรู้ อบรมเพิ่มเติมทักษะความรู้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนางานต่อยอดองค์ความรู้ให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

5. หลีกเลี่ยงอบายมุข

งดการใช้ยาเสพติดทุกประเภท เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในครอบครัวและผู้อื่นในสังคมร่วมกันส่งเสริมสังคมให้ดียิ่งขึ้น

แนวทางในการปฏิบัติตนในด้านต่างๆ

เมื่อนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเกิดประโยชน์ใน 3 ระดับ คือ

1. ระดับพื้นฐาน

หมายถึง ประโยชน์ต่อตัวบุคคลและครอบครัว ทำให้มีต้นแบบที่ดีในการดำรงชีวิต เช่น พ่อแม่ เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก ซึ่งจะเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีในอนาคต และยังทำให้สามารถประคับประคองครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่พอมีพอกินพอเลี้ยงตัวเองได้ ตัวอย่างได้แก่ การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้สามารถทราบทั้งรายรับและรายจ่ายของแต่ละคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้รัดกุมขึ้น

2. ระดับก้าวหน้า

เมื่อแต่ละครอบครัวมีความเข้มแข็ง ก็จะนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นกลุ่มชุมชน เพื่อร่วมมือกันในการนำความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ มาสร้างสรรค์ชุมชนของตนเอง เช่น การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อแก้ปัญหาครอบครัวเกษตรกร ทำให้เกิดการระดมความคิด ควบคุมต้นทุนในการทำการเกษตร ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดทั้งในประเทศและการส่งออก การติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่นักวิชาการทางการเกษตร เพื่อช่วยในการนำเมล็ดพันธุ์ หรือต้นอ่อนพันธุ์ที่ดีมาเพาะปลูกเพื่อให้มีผลผลิตที่ดียิ่งขึ้นในระยะยาว เป็นต้น

3. ระดับก้าวไกล

เป็นระดับของการสร้างเครือข่ายที่มีร่วมมือกันระหว่างชุมชนหรือมีองค์กรทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้เกิดการต่อยอด เช่น การทำสินค้า OTOP ส่งออกและวางขายตามศูนย์จำหน่ายต่างๆ เพื่อเสริมรายได้เข้ามาสู่ท้องถิ่น ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลด้วย

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาที่ทุกคนควรศึกษาและนำมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง ครอบครัวและสังคมต่อไป