จากเศรษฐกิจพอเพียง สู่รากฐานทางการเงินที่มั่นคง

จากเศรษฐกิจพอเพียง สู่รากฐานทางการเงินที่มั่นคง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร หรือพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยทุกคนได้ตรัสไว้ ซึ่งใจความของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็คือการปฏิบัติตนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสายกลาง รู้จักการประมาณตนและไม่ประมาท คนไทยหลาย ๆ คนนั้นก็ได้นำข้อคิดเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหลายด้าน ซึ่งด้านที่จะพูดถึงไม่ได้เลยคือการเงิน โดยหลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการเงินมีความสัมพันธ์กันดังนี้

เศรษฐกิจพอเพียงกับการเงิน

ที่สังเกตเห็นได้บ่อย ๆ เลยคือ หลาย ๆ คนนั้นได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือรวมไปถึงใช้ในการทำเกษตรกรรมซะส่วนใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่าปรัชญานี้สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินได้อย่างง่าย ๆ โดยประกอบด้วยหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ได้แก่

3 ห่วง

1.ความพอประมาณ
หมายถึง การรู้จักประมาณตนในการใช้จ่ายเท่าที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไปจนตนเองลำบากและไม่เบียดเบียนผู้อื่น เช่น หากจะซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่องหนึ่ง อาจคำนึงถึงงบประมาณที่ตนมี ซื้อตามงบที่มีโดยไม่เบียดเบียนใครและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

2.ความมีเหตุผล
หมายถึง การรู้จักมีเหตุผลเมื่อจะต้องใช้จ่าย โดยอาจพิจารณาจากความจำเป็นและงบประมาณที่มี หรือรวมไปถึงการคำนึงถึงผลที่จะตามมาหลังจากที่กระทำการนั้น ๆ ไปแล้ว เช่น การซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่องหนึ่ง อาจพิจารณาว่าซื้อมาเพื่ออะไร มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และจะได้ผลตอบแทนอะไรหลังจากที่ซื้อมาแล้ว

3.มีภูมิคุ้มกันที่ดี
หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบจากสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หรืออาจรวมไปถึงการมีความยับยั้งชั่งใจก่อนจะกระทำการใด ๆ เช่น การซื้อกระเป๋าสักใบหนึ่ง อาจเลือกซื้อเป็นกระเป๋าลวดลายธรรมดา ราคาไม่แพง แต่บรรจุของได้เยอะและมีความทนทาน ไม่จำเป็นจะต้องซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม หรือเปลี่ยนกระเป๋าตามแฟชั่นบ่อย ๆ

2 เงื่อนไข

1.เงื่อนไขความรู้
ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการด้านต่าง ๆ ที่มีความคลอบคลุมรอบด้านเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนและระมัดระวังในการปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ

2.เงื่อนไขคุณธรรม
ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต อดทน มีความเพียรพยายาม มีสติ เพราะหากมีคุณธรรมเหล่านี้แล้ว จะทำให้สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้เราเป็นคนที่มีคุณธรรมติดตัวซึ่งจะเป็นผลดีต่อการทำงานในระยะยาวได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการที่เราปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีข้อดีอยู่มากมาย นอกจากจะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือรวมไปถึงการสร้างรากฐานการเงินที่มั่นคงได้แล้ว ยังช่วยสร้างสติ ปัญญา และความเพียร ซึ่งนำไปสู่ความสุขที่แท้จริงได้อีกด้วย