อยู่อย่างพอเพียงแถมไม่มีหนี้ ทำได้อย่างไรบ้าง

อยู่อย่างพอเพียงแถมไม่มีหนี้ ทำได้อย่างไรบ้าง

การใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าเราจะต้องลาออกจากงานไปทำอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น จึงจะสามารถ ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้อยู่แบบฐานะพอมีพอใช้ อันที่จริงแล้วเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือต่างจังหวัด อาชีพใดก็ตาม ก็สามารถใช้หลักนี้ได้ เพื่ออยู่อย่างมีความสุขและไม่มีหนี้สิน ดังนี้

1. ทำบัญชีรายรับ -รายจ่าย
ผู้ที่มีปัญหาหนี้สินจำนวนมากทั่วประเทศไม่ได้จำกัดว่ามีเงินเดือนมากน้อยเท่าใด แต่ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาพื้นฐานคือ การละเลยบัญชีรายรับรายจ่ายที่ควรทำเป็นประจำทุกวัน ทำให้ใช้เงินเกินตัว สร้างหนี้จากการใช้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ทำให้จ่ายคืนในอัตราขั้นต่ำหรือจ่ายแต่ดอกเบี้ย เกิดการทบต้นทบดอกไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด และขาดตัวช่วยเตือนที่เป็นรูปธรรมว่า ปัจจุบันใช้เงินเกินตัวเพียงใดแล้ว อีกทั้งยังไม่เหลือเงินออมเพื่อการเก็บหรือลงทุนในระยะยาวอีกด้วย

2 การเลือกซื้ออาหารของกินของใช้ในราคาเกินฐานะ
ในปัจจุบัน สื่อโฆษณามีอิทธิพลอย่างมาก รวมถึงบุคคลที่เป็น influencer ดารา นักร้อง ยูทูบเบอร์ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รถยนต์ รวมถึงของใช้เบ็ดเตล็ดในชีวิตประจำวัน ทั้งของกิน ของใช้ เครื่องใช้ในครัวเรือน หากซื้อโดยบุคคลที่มีความสามารถในการหารายได้ต่อเดือนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ก็กลายเป็นของสิ้นเปลืองและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

3. มีเหตุผลที่เหมาะสมในการทำสิ่งต่าง ๆ
การใช้ชีวิตของหลายคนทั้งเรื่องส่วนตัวและการทำงาน มักตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เช่น หากถูกเจ้านายตำหนิก็ลาออกทันที โดยไม่มีแผนสำรองทางด้านการเงินในอนาคต ซึ่งที่จริงแล้ว ควรมีเงินสำรองไว้ใช้ 6 เดือนถึง 1 ปีก่อนค่อยลาออก หรือการให้เงินผู้อื่นยืมไป โดยไม่มีสัญญาการยืมเป็นหลักฐาน ทั้งยังเป็นเงินจำนวนมาก เมื่อติดตามทวงหนี้ไม่ได้ ก็ส่งผลให้ตัวเราเองไม่มีเงินออมไปลงทุนหรือเก็บเพื่อครอบครัวในอนาคต เป็นปัญหาการเบียดเบียนตัวเองที่ไม่เกิดประโยชน์และยังเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีแก่ผู้ที่มายืมเงินอีกด้วย

การใช้ชีวิตประจำวันของเราควรอยู่แบบพอเพียง คือ เหมาะสมกับฐานะครอบครัว และความสามารถในการหารายได้เสริม เพื่อป้องกันการสร้างหนี้สินที่เกินตัว อีกทั้งต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมในการตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้กับทุกคน ทุกสาขาอาชีพ เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น และยังสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมได้มากยิ่งขึ้น