เทคนิค วางแผนการเงินส่วนบุคคลด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เทคนิค วางแผนการเงินส่วนบุคคลด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะมีความรุนแรงลดลง แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้จากผลกระทบของการแพร่ระบาดมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบริหารการเงินส่วนบุคคลให้ดีขึ้นได้

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร ?

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้สรุปความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ในเว็บไซต์ (http://www.rdpb.go.th/th/Sufficiency/ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร-c32) ว่า “เป็นการยึดหลักทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและการกระทำ” ซึ่งคำนิยามนี้สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ทุกแง่มุม รวมถึงการบริหารการเงินส่วนบุคคลด้วย

4 เทคนิค วางแผนการเงินส่วนบุคคลด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ไตร่ตรองให้ดีก่อนใช้เงิน ก่อนการจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดก็ตามควรพิจารณาให้ดีก่อนทุกครั้ง เพราะหลายคนพลาดใช้เงินเพื่อซื้อความสุขชั่วคราวจนทำให้ตัวเองเดือดร้อนเรื่องเงินอยู่เสมอ ทั้งนี้การไตร่ตรองให้ดีก่อนการใช้เงินไม่ได้หมายความว่าให้กลายเป็นคนขี้ตระหนี่งดการใช้เงิน แต่ให้คิดให้ดีว่าเราใช้เงินอย่างเหมาะสมหรือไม่ ตัวอย่าง : แม้ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์แต่ใช้อสังหาริมทรัพย์ในการปล่อยเช่า ทำให้มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นก็ยังคงเป็นการวางแผนการใช้เงินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ใช้เงินอยู่บนทางสายกลาง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงเราสามารถใช้เงินซื้อความสุขได้แต่ควรมีขอบเขตเพื่อไม่ปล่อยให้ตัวเองต้องเดือดร้อนเรื่องการเงิน

รู้จักลงทุน การลงทุน คือ ภูมิคุ้มกันที่ดีของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิตในอนาคต หากไม่มีความรู้ในเรื่องของการลงทุนใด ๆ เลย ควรเริ่มต้นจากการลงทุนความรู้เพราะจะช่วยให้เกิดการตัดสินใจเรื่องเงินอย่างรอบคอบมากขึ้น

มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน สิ่งที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินจะเป็นพื้นฐานของความระมัดระวังตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจำนวนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่ควรมีควรเท่ากับรายจ่ายประจำต่อเดือน x 6 เดือน เช่น มีรายจ่ายประจำ เช่น ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าเช่าบ้าน, ค่ารถ ฯลฯ รวมกันประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน แสดงว่าต้องมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 60,000 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้ไม่ควรนำออกมาใช้จนกว่าจะเดือดร้อนจริง ๆ เช่น ตกงานกะทันหัน หรือเจ็บป่วย เป็นต้น

เมื่อทราบถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงแล้วจะเห็นได้ว่า การวางแผนเรื่องเงินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การไม่ใช้เงิน แต่ควรใช้เงินอย่างมีเหตุ มีผลที่สมควร