เปลี่ยนวิกฤติทางการเงินส่วนบุคคลให้มั่งคั่งด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เปลี่ยนวิกฤติทางการเงินส่วนบุคคลให้มั่งคั่งด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เป็นพระราชดำรัสที่สอนเรื่องการเงินที่มีเรียบง่ายและหลักการสำคัญ คือ การดำรงชีวิตบนหลักของความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการวางแผนการเงินส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี โดยเทคนิคในการเปลี่ยนวิกฤติทางการเงินส่วนบุคคลให้มั่งคั่งด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำได้ ดังนี้

1.ไตร่ตรองก่อนใช้จ่ายอยู่เสมอ ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและช่วยในการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากมายเกิดขึ้น ทำให้หลายคนมักคิดว่าสิ่งนั้นจำเป็นกับชีวิตโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีจนเกิดเป็นการใช้จ่ายเกินตัวที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สินที่ไม่เหมาะสมกับรายรับที่มี การตอบคำถามโดยใช้หลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้เกิดความรอบคอบในการใช้จ่ายยิ่งขึ้น เช่น นางสาวนุ่นพนักงานประจำ รายได้ 20,000 บาทต่อเดือนต้องการซื้อบ้านเป็นของตัวเอง เนื่องจากครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือนและมีพื้นที่คับแคบไม่เป็นส่วนตัว จึงทำให้นางสาวนุ่นอยากกู้ซื้อบ้านเพื่อให้ครอบครัวและตัวเองอยู่อาศัย โดยบ้านที่นางสาวนุ่นต้องการกู้ซื้อเป็นบ้านมือสอง ราคา 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.75% ต่อปี โดยผ่อนชำระเป็นเวลา 30 ปี จะเห็นได้ว่านางสาวนุ่นมีเหตุผลเพียงพอในการซื้อ มีความพอประมาณเพราะราคาบ้านไม่สูงเกินไป รวมถึงมีภูมิคุ้มกันในการใช้จ่ายเพราะเมื่อคำนวณค่าผ่อนบ้านแล้วยังไม่เกิน 40% ของรายได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเงินส่วนบุคคลในการใช้จ่ายอื่น ๆ ของนางสาวนุ่น เป็นต้น

2.รู้จักออมเงินอย่างชาญฉลาด การเก็บออมเงินไม่จำเป็นต้องเก็บในจำนวนมากเสมอไป อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการเก็บเงินทอนที่ได้ในแต่ละวันหรือการหักเก็บ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์จากรายจ่ายที่ใช้ในแต่ละวัน เช่น ใช้เงินวันละ 100 บาท เก็บ 5 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่าย เท่ากับ 5 บาทต่อวัน เป็นต้น หรือหักเก็บ 10 – 20% จากรายได้ทันที เช่น เงินเดือน 10,000 บาท หักเก็บ 10% = 1,000 บาท เป็นต้น จากนั้นนำเงินเก็บที่ได้ไปลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งนี้ต้องเกิดจากการศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนมาแล้วอย่างชัดเจน

3.วางแผนลดความเสี่ยงทางการเงิน การเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3 – 6 เดือน เป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยลดความเสี่ยงในกรณีฉุกเฉินที่เราอาจไม่มีรายได้ โดยจำนวนเงินเก็บที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน, ค่าผ่อนรถ, ค่าน้ำ, ค่าไฟและค่ากินอยู่ เป็นต้น

การนำเทคนิคทั้ง 3 ข้อข้างต้นมาปรับใช้ในการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปแต่ยังช่วยเพิ่มความมั่งคั่งต่อไปในอนาคตได้