เศรษฐกิจพอเพียง = พอ

เศรษฐกิจพอเพียง = พอ

เศรษฐกิจพอเพียงหากใครได้ยินประโยคนี้ภาพจำอาจจะนึกถึงชาวสวน ชาวไร่ แต่แท้จริงแล้วไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปแบบนั้นเสมอไป เพราะเศรษฐกิจพอเพียง ไม่จำเป็นต้องมีความหมายว่า มีอยู่มีกินไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา เพียงแต่เราต้องรู้จักคำว่าพอ…..พอเพียง แน่นอนว่าเราสามารถใช้ชีวิตหรูหราก็ได้ แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ต้องพอประมาณตามสถานะ ไม่ทำอะไรเกินตัว รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

1.การพูดจาให้พอเพียง
การพูดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้เราพูดคำว่าพอเพียง แต่หมายถึงการกำหนดคำพูดหรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ การคิดก่อนพูดนั่นเอง คำพูดที่อยู่ในรูปประโยคที่กระชับชัดเจนและตรงประเด็นจะช่วยให้เราสามารถพูดได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น ทั้งยังสามารถช่วยให้เราไม่พูดทำร้ายจิตใจคนอื่นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะกล่าวคำนั้นออกไปได้อีกด้วย ดังคำที่ นิรนาม/By Sanoh กล่าวไว้ว่า “คำพูดบางคำก็เหมือนปืนลั่นไกลเขมาดำติดที่ใจคนพูดกระสุนติดอยู่ในใจคนฟัง”

2. กระทำตนให้พอเพียง
อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี อะไรที่น้อยเกินไปก็ไม่งาม หากเราทำมากเกินไปก็อาจนำมาซึ่งผลเสียทางด้านสุขภาพ รวมไปถึงทางด้านจิตใจ แต่หากเราทำสิ่งใดน้อยเกินไป นั่นก็อาจจะไม่ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีตามที่มุ่งหมายไว้ เราจึงต้องควบคุมและวางแผนการกระทำของตัวเราให้พอดีกับขีดจำกัดและความสามารถของเรา เพื่อให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ลดการกระทำที่ไร้ประโยชน์ เพื่อให้เราไม่ทำสิ่งใดเกินจำเป็น เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

3.การปฏิบัติตนพอเพียง
ในยุคปัจจุบันการพัฒนาและการเติบโตในด้านต่าง ๆ นั้นมีความรวดเร็วและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น การพัฒนาตัวเองให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยี รวมไปถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ ก็จะช่วยให้เราสามารถรับมือ แก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้เราเป็นที่พึ่งให้ตัวเองและคนรอบข้างได้จากการองค์ความรู้และทักษะความสามารถของเรา เท่านี้ก็เรียกว่าพอเพียงได้เช่นกัน

4. คุณธรรมพอเพียง
การมีจิตใจที่มีคุณธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียรพยายาม มีความอดทน ใช้สติในการดำเนินชีวิตและไม่ตัดสินใครก่อน ก็เป็นหนึ่งในหลักเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน นี่ จึงทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่สำหรับหมู่คนจน ต้องปลูกผัก เลี้ยงสัตว์หรือเป็นเกษตรกร เท่านั้น แต่คือการสร้างจิตสำนึกในใจ เห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น ปฏิบัติต่อคนรอบข้างและคนในชุมชนสังคมได้อย่างเท่าเทียม

กล่าวคือ เราต้องรู้จักพึ่งพาตัวเองอย่างสุดความสามารถ ไม่ทำอะไรเกินตัว ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนคนอื่น พัฒนาตัวเองอยู่เสมอเท่านี้ ก็ถือว่าคุณสามารถปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว