หลีกเลี่ยงการนำเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ผิดวิธี

หลักความพอเพียงแบบผิดๆ

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นตรรกะที่มีเหตุผลและไปกันได้กับทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว ครอบครัว หรือธุรกิจ โดยหลักการแล้วอธิบายถึงการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เมื่อภาวะเศรษฐกิจเศรษฐกิจซบเซา ในฐานะผู้ประกอบมักคิดว่าราคาถูกกว่าย่อมดีกว่าเสมอ หมายถึงความพยายามปรับลดต้นทุนทุกทางเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่ยิ่งตัดงบประมาณมากเท่าไร กลับไม่ช่วยให้ประหยัดได้มากขึ้น ซ้ำร้ายเกิดปัญหาเงินทองรั่วไหลออกทางอื่น ด้วยสาเหตุที่เลือกประหยัดเงินไม่ถูกหลักเกณฑ์ คือนำเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ผิดวิธีนั่นเอง

ความพยายามตัดค่าใช้จ่ายในที่ที่ไม่ควร อาจทำร้ายธุรกิจของคุณเองได้ในระยะยาว แครอล รอธ นักยุทธศาสตร์ธุรกิจที่เป็นอดีตนายธนาคารเพื่อการลงทุนและนักเขียนหนังสือชื่อ สมการผู้ประกอบการ (The Entrepreneur Equation) ที่ขายดีที่สุด อธิบายถึงข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยที่สุด 3 ข้อ ดังนี้

1.ลดการบริการลูกค้า – เมื่อเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเริ่มตื่นตระหนกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวเสียที การประหยัดค่าใช้จ่ายสิ่งแรกมักจะไปลดปริมาณและคุณภาพด้านบริการ แทนที่จะให้ความสำคัญกับลูกค้ามากขึ้น อาจหลงลืมไปว่าลูกค้าคือทางรอดและเป็นตัวเลือกที่จะต้องประคับประคองให้อยู่รอดมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นเจ้าของร้านอาหารอาจลดจำนวนพนักงานเสิร์ฟเป็นสิ่งแรกเพื่อรัดเข็มขัดประหยัดต้นทุน แต่ถ้าจำนวนพนักงานที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอ ทำให้บริการลูกค้าขาดตกบกพร่อง ผลเสียร้ายแรงมากในยุคที่มีการแข่งขันสูง ถ้าคุณมองจากมุมมองของลูกค้าจะเห็นว่าการลดพนักงานบริกรเป็นความผิดพลาดเพราะจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าโดยตรง

The Entrepreneur Equation

2.ตัดงบประมาณด้านการตลาด – ผู้ประกอบการเฉือนเงินทุนสำหรับงบประมาณการตลาด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลักในระยะยาว เพราะถ้าคุณยังคงโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้อยู่ในสายตาลูกค้าตลอดเวลา หลังจากเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวแล้ว ลูกค้าจะเต็มใจที่จะใช้จ่ายอย่างเสรีมากขึ้นและมองคุณเป็นตัวเลือกแรก ๆ ถ้าคุณลดการใช้จ่ายด้านการตลาดระหว่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เท่ากับตัดตัวเองออกจากลูกค้าใหม่ที่จะช่วยสนับสนุนความเติบโตทางธุรกิจของคุณในอนาคต ทันทีที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น คุณจะได้เป็นผู้ที่ออกตัวก่อนใคร หรืออย่างน้อยก็ออกจากจุดสตาร์ทไปพร้อมกับคู่แข่งรายอื่น ๆ

3.ลดผลประโยชน์ของพนักงาน – การตัดค่าใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการและความสะดวกสบายของพนักงาน แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะเป็นของว่างในช่วงพักกลางวัน ซึ่งถ้าคำนวณตามจริงแล้วไม่ใช่รายจ่ายมากเท่าไร แต่กลับทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีคุณค่าและสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้นายจ้างอย่างเต็มที่ในภาวะที่ต้องรัดเข็มขัดไปด้วย สิ่งเล็ก ๆ นี้เองอาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยประคองธุรกิจของคุณได้ ความภักดีดังกล่าวจะสะท้อนออกมาจากข้างใน คือหัวใจที่มีความรักในงานและที่ทำงาน พนักงานที่มีความสุขช่วยให้ลูกค้าของคุณมีความสุข เหตุผลทั้งหมดเกี่ยวกับลูกค้า เพราะถ้าคุณไม่มีลูกค้า ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้

ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการที่ดี แต่ต้องนำมาพิจารณาใช้กับธุรกิจให้เหมาะสมด้วย ไม่เช่นนั้นคุณอาจเสี่ยงที่จะเสียลูกค้า ความประหยัดต้องอยู่บนพื้นฐานของความสุข ไม่เอาเปรียบพนักงาน ไม่เอาเปรียบลูกค้า ลูกจ้างทำงานอย่างมีความสุข เท่ากับสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจของคุณให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต