4 แนวทางสำหรับการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

4 แนวทางสำหรับการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ได้มีประโยชน์กับอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น เพราะคนในทุกสาขาอาชีพสามารถนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ นี่คือแนวทางที่สร้างความยั่งยืนให้กับทั้งคนและประเทศชาติโดยรวมด้วย โดยแนวทางที่คุณสามารถเอามาใช้ได้ เช่น

1. รู้จักการใช้ชีวิตให้ฉลาดและคุ้มค่า

คนเรามีอายุอยู่อย่างจำกัด ควรต้องใช้ชีวิตที่มีให้เกิดคุณค่าทั้งกับตนเองและครอบครัวให้มากที่สุด ความฉลาดในการใช้ชีวิตคือการรู้จักว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งที่ถูกหากทำได้ก็ควรทำ แต่หากสิ่งใดผิดแม้จะทำได้แต่ก็ไม่ควรทำเพราะจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและครอบครัว เพราะชีวิตคนเรานั้นบางสิ่งบางอย่างหากใช้หลักการคิดว่าควรลองให้หมดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรไม่อย่างนั้นจะไม่คุ้มค่า หากว่าสิ่งนั้นจะทำให้เกิดโอกาสที่ทำให้ชีวิตของตนเองมีปัญหาหรือพบเจอกับความทุกข์หรือแม้แต่ได้รับอันตรายก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะลอง เช่น ยาเสพย์ติด เป็นต้น

2. รู้จักประมาณตนและประหยัดอดออม

รู้ว่าด้วยฐานะการเงินของตนเองนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง และไม่สามารถทำอะไรได้ การใช้จ่ายเกินตัวจนก่อหนี้สินจะนำความลำบากยากจนมาให้กับตนเองและครอบครัวในที่สุด การรู้จักพอประมาณใช้จ่ายตามสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตจะช่วยทำให้มีเงินเหลือเก็บหรืออย่างน้อยที่สุดก็จะไม่ต้องเป็นหนี้ นอกจากนี้การทำบัญชีครัวเรือนเพื่อคอยตรวจสอบรายรับและรายจ่ายของตนเองและครอบครัวให้ละเอียด จะช่วยให้สามารถตัดทอนค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไปได้จึงช่วยทำให้มีเงินเหลือสำหรับนำไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นกว่าหรือใช้การในการออมก็ได้

3. รู้จักสร้างรายได้ให้มากขึ้น

หลักของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่าถ้ายากจนอยู่แล้วก็ให้พอใจอยู่กับความยากจนแบบนั้นตลอดไป แต่ควรหาช่องทางที่จะช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม เพื่อช่วยลดภาระหนี้สินครัวเรือนหรือเพื่อทำให้มีเงินเก็บออมมากขึ้น

4. รู้จักการสร้างภูมิคุ้มกันในชีวิตให้กับตัวเองและครอบครัว

เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ควรจะเตรียมความพร้อมเอาไว้หากว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาคนที่สามารถตั้งรับได้ดีที่สุดย่อมจะมีโอกาสอยู่รอดได้นั่นเอง

การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงหากทำได้ก็คือการสร้างความยั่งยืนให้กับความสุขและฐานะของครอบครัวให้เกิดความมั่นคง ไม่ตกเป็นเหยื่อของความโลภหรือเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอีกต่อไป