ธุรกิจยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสมอบให้แก่คนไทยเมื่อปี พ.ศ 2517 โดยในปี 2540 ช่วงที่มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ก็ได้เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมาก เพราะสามารถนำมาปรับใช้ได้กับธุรกิจการลงทุนที่ประสบปัญหาอย่างร้ายแรง จนทำให้ผู้ที่น้อมนำหลักนี้ไปใช้สามารถฟื้นคืนฐานะครอบครัว และสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง

หลักเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับธุรกิจ จะเน้นใน 3 ส่วน คือ มีความพอประมาณในการลงทุน มีเหตุผลที่จะตัดสินใจทำ และมีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

มีความพอประมาณ

การลงทุนทำธุรกิจ ไม่ว่าจะขนาดเล็กกลาง ใหญ่ ต้องให้ความสำคัญกับความพอประมาณ เช่น จะเปิดร้านขายอาหารก็ต้องดูว่าเรามีเงินทุนอยู่เท่าไหร่ สามารถเปิดร้านได้ขนาดไหน รองรับลูกค้าได้เพียงใด ที่สำคัญคือหากจำเป็นต้องกู้ จะสามารถคืนเงินกู้ทั้งต้นและดอกให้แก่ธนาคารได้หมดเมื่อใด

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องวางแผน แต่ละบุคคลย่อมมีศักยภาพไม่เท่ากัน ความพอประมาณจึงเป็นหนึ่งในหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจทุกประเภท

มีเหตุผลที่จะทำ

การทำธุรกิจต้องมีเหตุผลที่จะทำ อย่างเช่น เราทำธุรกิจขายอาหาร หากต้องการขยายร้าน ก็ต้องพิจารณาว่าการขยายร้านนี้จะต้องลงทุนเพิ่มอีกเท่าไหร่ จะมีรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ถ้าร้านของเราเดิมทีเป็นร้านขนาดเล็กทำให้ลูกค้าไม่มีที่นั่ง ทำให้จึงต้องเสียลูกค้าให้กับเจ้าอื่น การขยายร้านอาจจะเป็นทางออกที่ดีให้ลูกค้าใช้บริการได้มากขึ้น

แต่หากพิจารณาว่ายังไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ก็ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบในการทำ เพราะการที่ต้องกู้เงินธนาคารเพื่อมาต่อเติมขยายร้านย่อมมีดอกเบี้ยเงินกู้ หากผลที่ได้ไม่คุ้มค่า ก็จะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกมาก

มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง

การทำธุรกิจใด ๆ ก็ตามย่อมมีความเสี่ยงทั้งด้านคู่แข่งและลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) และกลุ่มเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ

หากลงทุนมากแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็อาจจะทำให้เหลือสินค้าค้างสต๊อกมาก จึงต้องสำรองเงินทุนและมีแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย

หลักของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการทำธุรกิจ ไม่ได้หมายถึงห้ามลงทุน แต่มีความหมายลึกซึ้ง ว่าการลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจที่จะลงทุน ต้องมีการวางแผน ไม่ตัดสินใจด้วยความโลภหรือทำตามผู้อื่นอย่างขาดเหตุผล ทั้งยังต้องมีการวางแผนสำรองอย่างรอบด้าน เพื่อให้ไม่ต้องประสบปัญหายุ่งยากในภายหลัง หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับการประยุกต์หลักการนี้กับธุรกิจ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

ธุรกิจยั่งยืนเศรษฐกิจพอเพียง