เศรษฐกิจพอเพียง ภาคปฏิบัติจริง สิ่งที่หลายคนไม่รู้

เศรษฐกิจพอเพียง ภาคปฏิบัติจริง สิ่งที่หลายคนไม่รู้

คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง นั้น ทำให้เกิดการตีความได้หลายทิศทาง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้ของแต่ละบุคคล จากพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้ทรงแนะนำแนวคิดของความพอดี พอประมาณ ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/เศรษฐกิจพอเพียง

ขอยกตัวอย่างกรณีอาคารก่อสร้างที่นั่งร้านถล่ม ซึ่งมีข่าวให้เห็นอยู่หลายครั้งที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจาก วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและกระบวนการที่ผิดขั้นตอนบ้าง ทำเร็วเกินไปบ้าง ทำให้เกิดการวิบัติของวัสดุและถล่มสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ มีผู้บาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ชีวิต นั่นก็เพราะว่าการทำอะไรที่ไม่พอดีพอเหมาะ ทำเร็วเกินไป เล็งผลเลิศเกินไป โดยไม่คำนึงถึงรากฐาน ฉันใดก็ฉันนั้น เศรษฐกิจที่เติบโตโดยขาดความพอดีพอเหมาะ เติบโตแบบไม่มีเหตุผล เติบโตโดยไม่มีความพร้อมทั้งความรู้และเทคโนโลยี เศรษฐกิจนั้นถือว่าอันตรายเหมือนอาคารที่อาจจะถล่มลงมาได้ระหว่างก่อสร้าง

อธิบายถึง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

จากคำอธิบายเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่นักวิชาการออกมาอธิบายกันนั้น อาจจะดูฟังแล้วยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน อย่างเช่น เรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน โดยมีอีกสองเงื่อนไขกำกับ คือ ความรู้ และคุณธรรม เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพ ผู้เขียนจึงจะขอยกตัวอย่างว่า มนุษย์เงินเดือน สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติจริงได้อย่างไร เนื่องจากเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เป็นเรื่องที่เกาะเกี่ยวกันสมชื่อ คล้าย ๆ สัญลักษณ์โอลิมปิก จึงขออธิบายแบบรวมกันไป

ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนเริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่ก้าวเข้าสู่สังคมวัยทำงาน ดังนั้นเมื่อจะทำสิ่งใดก็จะต้องมี ความรู้ ในสิ่งที่จะทำเสมอ ความรู้ในงานนั้นจะได้เรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติจากงานที่ทำในแต่ละวัน พร้อมกับการอบรมและค้นคว้าหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ แต่ความรู้เพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ ชีวิตคนเราต้องฝึกฝนเรื่อง คุณธรรม ประจำใจด้วย เช่น ความอดทน ความซื่อสัตว์ การไม่เห็นแก่ตัว การไม่เอาเปรียบผู้อื่น สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากหนังสือปรัชญา คำคมสอนใจ เพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงาน ความรู้ที่ไม่มีคุณธรรมกำกับ ก็เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ จะไปไหนก็ไม่ถึงจุดหมาย

มนุษย์เงินเดือนยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับการบริหารเวลา การใช้เงิน และรู้จักป้องกันความเสี่ยง ทำอะไรก็ให้ พอประมาณ เช่น จำกัดเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนให้ชัดเจน ให้ความสำคัญกับทั้งสองเรื่อง ไม่ใช่อดนอนเพื่อทำงาน หรือเล่นเกมระหว่างทำงาน ใช้เงินก็พอประมาณกับความต้องการและฐานะ ไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัว ไม่สร้างหนี้ ใช้จ่ายอย่าง มีเหตุผล และต้องมี ภูมิคุ้มกัน ที่ดี เช่น การรู้จักป้องกันความเสี่ยงให้ตนเองในเรื่องต่าง ๆ การทำประกันภัยที่คุ้มครองความเสี่ยงชีวิตและทรัพย์สิน การไม่คบเพื่อนที่ชวนไปในทางเสื่อม เช่น ยาเสพติดและการพนัน การลักเล็กขโมยน้อย หรือประพฤติผิดระเบียบวินัยการทำงาน

จากคำอธิบายง่าย ๆ ข้างต้น คงทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี้ ไม่ใช่กำแพงที่ขัดขวางการร่ำรวยเป็นเศรษฐี ตรงกันข้ามคือ เป็นหลักปฏิบัติที่จะเตรียมพร้อมให้เป็นเศรษฐีได้ในอนาคตอย่างมีรากฐานที่มั่นคง เปรียบดั่งอาคารที่มีรากฐานแข็งแกร่ง แม้มีลมพายุหรือแผ่นดินไหวหรือภัยใดใด ก็สามารถจัดการป้องกันได้ด้วยความรู้คู่คุณธรรม ด้วยความรู้จักประมาณตน ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันป้องกันความเสี่ยงได้

อธิบายถึง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข