ดำรงชีพจากแนวทางปรัชญา ในชีวิตประจำวัน

ดำรงชีพจากแนวทางปรัชญา ในชีวิตประจำวัน

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาเกี่ยวกับแนวการดำรงชีวิต และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับประเทศ เป็นรูปแบบการพัฒนา และบริหารประเทศในระบบทางสายกลาง โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันต่อโลกกับยุคโลกาภิวัตน์ภายใต้ความพอเพียง หรือคือการพัฒนาโดยพิจารณาจากความพอประมาณ ใช้เหตุและผลในการดำเนินการงานต่าง ๆ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง เพื่อป้องกันตัวจากผลกระทบต่าง ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก โดยต้องอาศัยความรอบรู้ ความละเอียดรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินการต่าง ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวิชาการความรู้ต่าง ๆ มาใช้วางแผน และการดำเนินการในทุก ๆ ขั้นตอนของชีวิต และควรเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจให้กับผู้คนในชาติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการ และนักธุรกิจในทุก ๆ ระดับ ควรมีสำนึกคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรอบรู้ที่เหมาะสม สามารถดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียรพยายาม รู้จักใช้สติและปัญญาด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เกิดสมดุลในชีวิต และความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้นั่นเอง

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงประกอบไปด้วยคุณสมบัติต่าง ๆต่อไปนี้

  1. ความพอประมาณ ความหมายคือความพอดี ไม่น้อยหรือมากเกินไป และไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วย เช่น การผลิต และบริโภคในระดับพอประมาณ
  2. ความมีเหตุผล ความหมายคือการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับระดับความพอเพียง ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ
  3. ภูมิคุ้มกัน ความหมายคือการเตรียมตัวให้พร้อมต่อผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

  1. ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในครอบครัว ทุก ๆ ครอบครัวควรทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายประจำวันเอาไว้ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัวด้วย โดยมีการวางแผนหรือจดบันทึกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อให้ทราบว่าในแต่ละวันนั้นมีรายรับหรือรายจ่ายเท่าไหร่ สิ่งที่ใช้จ่ายไปนั้นมีอะไรบ้างในแต่ละวัน เพื่อให้สามารถกำหนดหลักการการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมกับรายรับภายในครอบครัวได้
  2. การใช้เงิน เมื่อได้เงินมา ควรเริ่มวางแผนการใช้จ่ายเงินก้อนนั้นว่าควรจะใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง และหากมีเงินส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายก็ควรจะนำมาเก็บออมไว้ หรือแยกไว้ใช้ในยามที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
  3. การเลือกซื้อสิ่งของ เมื่อต้องการเลือกซื้อของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ควรคำนึงถึงความเหมาะสมว่าของสิ่งนั้นจำเป็นต่อการใช้งานหรือไม่ หรือมีความเหมาะสมกับเราหรือไม่ หากราคาเหมาะกับคุณภาพของสินค้า และสามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้จริง ก็ถือว่าม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ใช่การใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่าย และเป็นการซื้อของตามความจำเป็น เป็นต้น