รู้จัก 4 เทคนิคออมเงินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง รับมือปัญหาค่าครองชีพสูง

รู้จัก 4 เทคนิคออมเงินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” หรือ “รัชกาลที่ 9” ทรงเป็นต้นแบบที่ดีในด้านการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ประหยัด และ มัธยัสถ์ ซึ่งพระองค์ได้มอบหลักปรัชญา”เศรษฐกิจพอเพียง” ไว้ให้ชาวไทยทุกคนนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต และวันนี้เราก็ได้นำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการออมเงินที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถรับมือกับปัญหาค่าครองชีพสูงที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ดีขึ้น ส่วนจะมีอะไรบ้างต้องลองไปติดตามกันเลย

1.เก็บเงินเหลือใช้ในแต่ละวัน
ในแต่ละวันให้เราคำนวณรายจ่ายเฉลี่ยที่ต้องใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ค่าใช้จ่ายจิปาถะต่าง ๆ จากนั้นให้ตั้งยอดงบประมาณที่สามารถใช้ได้ในแต่ละวัน แต่ไม่ต้องถึงกับประหยัดจนเกินไป อะไรที่จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าอาหาร 3 มื้อ ก็ควรต้องจ่าย อะไรที่สามารถตัดออกไปเช่น เช่น ค่ากาแฟ-น้ำหวาน, ค่าของว่างระหว่างมื้ออาหาร ก็ขอให้ตัดออกไป และพยายามใช้เงินไม่ให้เกินยอดที่ตั้งเอาไว้ หากวันไหนมีเงินเหลือติดกระเป๋ากลับบ้านก็ให้นำมาเก็บออมไว้

2.ทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายในครอบครัว
เมื่อนานมาแล้วพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำริให้ประชาชนคนไทยทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายในครัวเรือน เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้ว่าในแต่ละวัน ในแต่ละสัปดาห์ และในแต่ละเดือน ครอบครัวมีเงินเข้า – ออกมากน้อยแค่ไหน และใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เราเห็นช่องโหว่ว่าเงินของเรารั่วไหลออกไปทางไหนบ้าง และสามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากที่เคยหมดไปกับของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ก็เปลี่ยนเป็นเงินออมได้

3.ใช้เท่าที่มี ไม่สร้างหนี้หากไม่จำเป็น
คำพูดติดปากที่ว่า “ของมันต้องมี!” ทำให้คนเป็นหนี้บัตรเครดิตมานักต่อนักแล้ว บางคนหนี้ยาวเป็นหางว่าวจนถูกธนาคารขึ้นแบล็กลิสต์ ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดเลยหากเรารู้จักยับยั้งชั่งใจ ใช้เท่าที่มี ไม่สร้างหนี้ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพพุ่งสูงทะลุเพดานแบบนี้ ของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ หากเราพอมีเงินซื้อมาเติมความสุขให้ตัวเองก็สามารถทำได้ แต่หากประเมินแล้วว่าเงินไม่พอก็ขอให้ระงับไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะมีเหตุจำเป็นให้ต้องใช้เงินหรือไม่ ถึงตอนนั้นค่อยสร้างหนี้ก็ยังไม่สาย

4.ทำให้เงินออมงอกเงย
“เงิน” ยิ่งนานไปมูลค่าก็จะยิ่งน้อยลง วันนี้เงิน 100 บาททานข้าวได้ 2 จาน แต่อีก 5 ปีข้างหน้าอาจจะทานข้าวได้แค่จานเดียวก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการออมเงินก็คือการลงทุนให้เงินออมของเราผลิดอกอกออกผล สร้างรายได้กลับให้เรา เช่น การนำเงินออมไปซื้อกองทุน, ซื้อหุ้น, ซื้อประกัน หรือฝากธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง ๆ เป็นต้น แต่อย่าลืมว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน