เพียงพอบนเส้นทางพ่อ “เศรษฐกิจพอเพียง”

เพียงพอบนเส้นทางพ่อ “เศรษฐกิจพอเพียง”

“เริ่มต้นเราปลูกเลี้ยงทุกอย่าง…หลังจากนั้นให้ทุกอย่างเลี้ยงเรา ไม่ใช่ให้เราเลี้ยงทุกอย่างไปตลอดชีวิต”

วลีชีวิตหลักคิดของปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นเส้นทางก้าวสู่ความพอเพียง พออยู่พอกิน ในวิถีชีวิตพอดี เขาไม่มีหนี้สิน มีกิน มีอยู่ และมีรายได้เหลือเก็บอย่างเพียงพอ และยังสามารถหล่อหลอมครอบครัวให้ซึมซับด้วยการชวนคิด ช่วยทำ ต่อยอด และแบ่งปันสู่ผู้อื่นได้อย่างอบอุ่น กลมกลืน และต่อเนื่อง เป็นตัวอย่างห้องเรียนธรรมชาติที่ควรแก่การบอกต่อ

ประทีป มายิ้ม ปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของศูนย์การเรียนรู้สวนพออยู่พอกินบ้านมายิ้ม ผู้มุ่งมั่นเดินตามรอยพระบาทศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขาเดินตามทางสายกลางบนหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่เป็นหัวใจของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัด หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาก่อนแต่ยังไม่เห็นภาพชัดเจน ในบทความนี้เราจะขยายความถึงนิยามของหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

หลัก 3 ห่วง ได้แก่

1.พอประมาณ หมายถึง ความพอที่ไม่มากและไม่น้อยเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

2.มีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล คำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นอย่างรอบคอบ

3.มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึงการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น คาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

หลัก 2 เงื่อนไข ได้แก่

1.ความรู้ หมายถึง รอบรู้-รอบคอบ-ระมัดระวัง มีความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมาประกอบการวางแผน และต้องมีความระมัดระวังในขั้นตอนการปฏิบัติ

2.คุณธรรม หมายถึง ซื่อสัตย์สุจริต ตระหนักในคุณธรรม ขยันอดทน ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต และรู้จักแบ่งปัน

หลักเศรษฐกิจพอเพียงนำพาชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านธรรมดาคนนี้ให้เป็นผู้นำที่ไม่ธรรมดา เขาลงมือทำทุกทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างมุ่งมั่น ทุ่มเทถวายชีวิตไม่ใช่เพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่เพื่อให้มีโอกาสส่งต่อปรัชญานี้สู่สังคมในวงกว้างให้มากที่สุดด้วยการเปิดบ้านตนเองให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นห้องเรียนตัวอย่างของการใช้ชีวิตจริงบนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แขกผู้มาเยือนได้เรียนรู้ในฉบับจับต้องได้ และนำไปปฏิบัติจริงได้อย่างเห็นผล บ้านหลังนี้ได้มีโอกาสต้อนรับแขกผู้มาเยือนทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้องค์ความรู้ของที่นี่ยังถูกบันทึกเป็นสื่อสร้างแรงบันดาลใจเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

นี่คือตัวอย่างชีวิตจริงที่เป็นผลผลิตจากการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นบุคคลธรรมดาที่สามารถดำรงตนได้อย่างมีความสุขท่ามกลางภัยพิบัติ และวิกฤตเศรษฐกิจมากมายที่เกิดขึ้นในประเทศนี้