เศรษฐกิจพอเพียง กับ Smart farm ในยุค 5G

Smart farm ในยุค 5G

เศรษฐกิจพอเพียง คือปรัชญาที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 และถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่ใน ปีพ.ศ. 2540 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร ภายใต้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เหมาะกับที่ดินเพื่อการเกษตรแม้เป็นขนาดเล็ก สามารถจัดสรรการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน โดยส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30 เปอร์เซนต์ขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่วนที่สองประมาณ 30 เปอร์เซนต์ ไว้ปลูกข้าวสำหรับเป็นอาหารประจำวันให้เพียงพอตลอดทั้งปี ส่วนที่สาม 30 เปอร์เซนต์ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก และสมุนไพร เอาไว้รับประทาน และหากเหลือก็นำไปจำหน่ายสร้างรายได้ ส่วนที่สี่ อีก 10 เปอร์เซนต์เป็นที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกการเกษตรถึง 138 ล้านไร่ สามารถผลิตอาหารกินเองได้ภายในประเทศ และสามารถส่งออกผลผลิตหรืออาหารแปรรูปไปสู่นานาประเทศ โดยในปี 2018 มีอัตราการเติบโตในภาคการเกษตร ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมที่มีมูลค่าทางการตลาดของประเทศไทย เกษตรกรรมของประเทศไทยถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้วเมื่อไม่นานมานี้ จากเกษตรกรรมดั้งเดิมสู่ยุค 2.0 โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรเบาทดแทนแรงงานคน และใช้ระบบควบคุมน้ำเพื่อให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตที่ดีตลอดทั้งปี

ต่อมามีการสนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรหนัก เพื่อส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรให้สามารถส่งออกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นการก้าวสู่ยุคเกษตร 4.0 จนถึงปัจจุบันการเกษตรยุคใหม่ หรือที่เราเรียกตามแผนพัฒนาประเทศที่มุ่งไปสู่อนาคตหรือ Society 5.0 เป็นยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ภาคเกษตรกรรมได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ และการเตรียมดิน ร่วมกับระบบ ICT และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Smart Farm: ฟาร์มอัจฉริยะหรือชื่อในแวดวงเกษตรกรรมเรียกกันว่า เกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture)

ในอดีตเกษตรกรรมต้องพึ่งพา ดิน ฟ้า ลมและฝน เพื่อผลผลิตตามฤดูกาล แต่สำหรับ Smart Farm เทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ดิน ฟ้า อากาศ เพื่อการคาดคะเนในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาและควบคุมปริมาณผลผลิตให้ตรงความต้องการได้ เช่น การนำโดรนมาช่วยตรวจสอบสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ใหญ่ตั้งแต่ 50 – 1,000 ไร่ขึ้นไป โดรนเหล่านี้สามารถตั้งโปรแกรมการทำงานล่วงหน้า โดยใช้แผนที่ดาวเทียมจากกูเกิ้ลเพื่อค้นหา จัดเก็บ และสำรวจได้อย่างอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบรดน้ำอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชัน ‘Smart Farm Kit’ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน และเทคโนโลยีการเกษตร สามารถติดตั้งระบบได้ 1 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 625 ไร่ โดยเกษตรกรสามารถระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ ได้ตามต้องการ พร้อมระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศและสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สายยาง

โดยภาพรวมแล้วการทำ Smart Farm จึงไม่ได้เป็นเพียงการใช้ระบบ ICT หรือเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางแผนการจัดการที่ดี พร้อมด้วยระบบประกันพืช ผัก ผลไม้ ตามนโยบายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agricultural Practices: GAP เน้นไปที่เรื่องของวิธีจัดการปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตร ดิน น้ำ ปุ๋ย การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์พืช รวมไปถึงวิธีป้องกันศัตรูพืช เพื่อรับรองความปลอดภัยให้ผู้บริโภค และยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญอีกด้วย ทั้งนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลสามารถเข้าถึงเกษตรกรได้โดยตรงและยังได้รับผลผลิตที่ดี มีคุณภาพตรงตามความต้องการ

จากความสำเร็จที่มี GDP เป็นตัวชี้วัด ทำให้เห็นแนวทางการขับเคลื่อนทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายของการสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ ได้ผลในระดับที่น่าพอใจ และนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตได้