บริโภคอย่างไรให้เข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมอบไว้ให้คนไทยและคนทั่วโลกได้นำไปประยุกต์กับวิถีประจำวัน และนี่คือการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการบริโภคอย่างเหมาะสม

บริโภคอย่างพอเพียง

บริโภคอย่างพอเพียง บริโภคพอประมาณ ข้าว , กับข้าวและเครื่องเคียงต่าง ๆ ในจานอาหารแต่ละมื้อ ควรบริโภคให้รู้สึกอิ่มไม่เกินสามในสี่ส่วนของจาน จึงจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ลดโอกาสเกิดโรคอ้วน และทำให้ประหยัดค่าอาหารด้วย

ซื้ออย่างพอเพียง

ซื้ออย่างพอเพียง ไม่ซื้อมาเกินบริโภค ไม่ควรลืมว่าการกักตุนอาหารสดแต่ละมื้อมากเกินไป นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้วอาหารยังเก่าเก็บ ทำให้เสียคุณค่าทางอาหารได้

เลือกของที่ดีมีคุณภาพมาบริโภค

เลือกของที่ดีมีคุณภาพมาบริโภค การบริโภคอาหารสดใหม่จากฟาร์ม นอกจากช่วยให้เราได้สารอาหารที่มีคุณค่าสมบูรณ์ตามหลักการทางโภชนาการแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจและมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เลือกบริโภคโปรตีนที่มีคุณภาพดีสมราคา

เลือกบริโภคโปรตีนที่มีคุณภาพดีสมราคา โดยเฉพาะช่วยที่โปรตีนสัตว์ชนิดใดราคาตกต่ำลงก็ควรเลือกสิ่งนั้น เช่น ช่วงที่ไข่ไก่ราคาตก จากฟองละ 5-6 บาท เหลือฟองละ 3-4 บาท เราก็ควรเลือกซื้อไข่ไก่เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารให้มากขึ้นกว่าเดิม และลดสัดส่วนเนื้อสัตว์ประเภทอื่นลงไป นอกจากช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าสตางค์แล้วยังช่วยให้เศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมนั้น ๆ ฟื้นตัวขึ้นด้วย

ทานอย่างรู้คุณค่าของอาหาร

ทานอย่างรู้คุณค่าของอาหาร ไม่ตักอาหารใส่จานเยอะเกินบริโภคจนเหลือทิ้งกลายเป็นขยะสดที่สิ้นเปลืองพลังงานในการทำลายโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะอาหารจำพวกบุฟเฟ่ต์ หรือจิ้มจุ่ม

เลี่ยงของกินเล่นไร้ประโยชน์

เลี่ยงของกินเล่นไร้ประโยชน์ ลดการบริโภคอาหารกรุบกรอบหรือขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างวัน เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงจากไขมันและเกลือโซเดียมในอาหารแล้ว ยังทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปกับขนมเหล่านี้ด้วย

เลือกรับประทานผักผลไม้สดของไทย

เลือกรับประทานผักผลไม้สดของไทย โดยเฉพาะเพื่อการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมด้านผลไม้ประจำถิ่นในแต่ละจังหวัด อาทิ สินค้าด้านอาหารจากโครงการหลวง ดอยคำ ภูฟ้า ฯลฯ

บริโภคอาหารไทย

บริโภคอาหารไทย อิ่มและอร่อยได้ในราคาประหยัดมากกว่า ทั้งยังช่วยให้เศรษฐกิจด้านปศุสัตว์และเนื้อสัตว์ในประเทศรุ่งเรืองขึ้น เพื่อให้วงจรเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถขับเคลื่อนได้อย่างดี สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ทานอาหารไซส์ปกติ

ทานอาหารไซส์ปกติ ไม่ควรบริโภคอาหารแบบอัพไซส์ หรือเพิ่ม topping บ่อยๆ เพราะนอกจากจะได้แคลอรี่เกินความต้องการ (เป็นเพียงการตอบสนองต่อความอยากอาหารเพียงชั่วคราว) เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูงแล้ว ยังทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ บางครั้งหลายคนยังบริโภคไม่หมดจนเหลือทิ้งอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้กับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกซื้ออาหารได้ในทุกมื้อ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านในการปรับใช้เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีและลดรายจ่าย ประหยัดเงินในกระเป๋าได้ด้วย